วันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2553

วันวิสาขบูชา


วันวิสาขบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า 3 ประการ คือ เป็นวันประสูติ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า และปรินิพพาน

ความหมาย คำว่า "วิสาขบูชา" หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 วิสาขบูชา ย่อมาจาก " วิสา - ขบุรณมีบูชา " แปลว่า " การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ " ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปเป็นกลางเดือน 7

ความสำคัญ วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ คือเกิด ได้ตรัสรู้ คือสำเร็จ ได้ปรินิพพาน คือ ดับ เกิดขึ้นตรงกันทั้ง 3 คราวคือ

1. เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติ ที่พระราชอุทยาน ลุมพินีวัน ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับเทวทหะ เมื่อเช้าวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี

2. เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้ เป็นพระพุทธเจ้า เมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในตอนเช้ามืดวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี หลังจากออกผนวชได้ 6 ปี ปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหารของอินเดีย

3. หลังจากตรัสรู้แล้ว ได้ประกาศพระศาสนา และโปรดเวไนยสัตว์ 45 ปี พระชนมายุได้ 80 พรรษา ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ (ปัจจุบันอยู่ในเมือง กุสีนคระ) แคว้นอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย

นับว่าเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง ที่เหตุการณ์ทั้ง 3 เกี่ยวกับวิถีชีวิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีช่วงระยะเวลาห่างกันนับเวลาหลายสิบปี บังเอิญเกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือน 6 ดังนั้นเมื่อถึงวันสำคัญ เช่นนี้ ชาวพุทธทั้งคฤหัสถ์ และบรรพชิตได้พร้อมใจกันประกอบพิธีบูชาพระพุทธองค์เป็นการพิเศษ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณ พระปัญญาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณ ของพระองค์ท่าน ผู้เป็นดวงประทีปของโลก

ป ร ะ วั ติ ค ว า ม เ ป็ น ม า ข อ ง วั น วิ ส า ข บู ช า ใ น ป ร ะ เ ท ศ ไ ท ย

วันวิสาข บูชานี้ ปรากฏตามหลักฐานว่า ได้มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งสันนิษฐานว่า คงจะได้แบบอย่าง มาจากลังกา กล่าวคือ เมื่อประมาณ พ.ศ. 420 พระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาอย่าง มโหฬาร เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา กษัตริย์ลังกาในรัชกาลต่อ ๆ มา ก็ทรงดำเนินรอยตาม แม้ปัจจุบันก็ยังถือปฏิบัติอยู่

สมัยสุโขทัย นั้น ประเทศไทยกับประเทศลังกามีความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนาใกล้ชิดกันมากเพราะ พระสงฆ์ชาวลังกา ได้เดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา และเชื่อว่าได้นำการประกอบพิธีวิสาขบูชามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย

ในหนังสือ นางนพมาศได้กล่าวบรรยากาศการประกอบพิธีวิสาขบูชาสมัยสุโขทัยไว้ พอสรุปใจความได้ว่า " เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัยทั่วทุก หมู่บ้านทุกตำบล ต่างช่วยกันทำความสะอาด ประดับตกแต่งพระนครสุโขทัยเป็นการพิเศษ ด้วยดอกไม้ของหอม จุดประทีปโคมไฟแลดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็นการอุทิศบูชาพระรัตนตรัย เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน พระมหากษัตริย์ และบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีล และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ครั้นตกเวลาเย็น ก็เสด็จพระราช ดำเนิน พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ตลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ไปยังพระ อารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน

ส่วน ชาวสุโขทัยชวนกันรักษาศีล ฟังธรรมเทศนา ถวายสลากภัต ถวายสังฆทาน ถวายอาหารบิณฑบาต แด่พระภิกษุ สามเณรบริจาคทรัพย์แจกเป็นทานแก่คนยากจน คนกำพร้า คนอนาถา คนแก่ คนพิการ บางพวกก็ชวนกันสละทรัพย์ ปล่อยสัตว์ 4 เท้า 2 เท้า และเต่า ปลา เพื่อชีวิตสัตว์ให้เป็นอิสระ โดยเชื่อว่าจะทำให้คนอายุ ยืนยาวต่อไป "

ในสมัย อยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้วยอำนาจอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ เข้าครอบงำประชาชนคนไทย และมีอิทธิพลสูงกว่าอำนาจของพระพุทธศาสนา จึงไม่ปรากฎหลักฐานว่า ได้มีการประกอบพิธีบูชาในวันวิสาขบูชา จนมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2360) ทรงดำริกับ สมเด็จพระสังฆราช (มี) สำนักวัดราชบูรณะ มีพระราชประสงค์จะให้ฟื้นฟู การประกอบพระราชพิธีวันวิสาขบูชาขึ้นใหม่ โดย สมเด็จพระสังฆราช ถวายพระพรให้ทรงทำขึ้น เป็นครั้งแรกในวันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ. 2360 และให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการ เพื่อมีพระประสงค์ให้ประชาชนประกอบการบุญการกุศล เป็นหนทางเจริญอายุ และอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากทุกข์โศกโรคภัย และอุปัทวันตรายต่างๆ โดยทั่วหน้ากัน

ฉะนั้น การประกอบพิธีในวันวิสาขบูชาในประเทศไทย จึงได้รื้อฟื้นให้มีขึ้นอีกครั้งหนึ่งในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และถือปฏิบัติมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน

การจัดงาน เฉลิมฉลองในวันวิสาขบูชาที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกยุคทุกสมัย คงได้แก่การจัดงานเฉลิมฉลอง วันวิสาขบูชา พ.ศ.2500 ซึ่งทางราชการเรียกว่างาน " ฉลอง 25 พุทธศตวรรษ " ตั้งแต่วันที่ 12 ถึง 18 พฤษภาคม รวม 7 วัน ได้จัดงานส่วนใหญ่ขึ้นที่ท้องสนามหลวง ส่วนสถานที่ราชการ และวัดอารามต่างๆ ประดับธงทิวและโคมไฟสว่างไสวไปทั่วพระ ราชอาณาจักร ประชาชนถือศีล 5 หรือศีล 8 ตามศรัทธาตลอดเวลา 7 วัน มีการอุปสมบทพระภิกษุสงฆ์รวม 2,500 รูป ประชาชน งดการฆ่าสัตว์ และงดการดื่มสุรา ตั้งแต่วันที่ 12 ถึง 14 พฤษภาคม รวม 3 วัน มีการก่อสร้าง พุทธมณฑล จัดภัตตาหาร เลี้ยงพระภิกษุสงฆ์วันละ 2,500 รูป ตั้งโรงทานเลี้ยงอาหารแก่ประชาชน วันละ 200,000 คน เป็นเวลา 3 วัน ออกกฎหมาย สงวนสัตว์ป่าในบริเวณนั้น รวมถึงการฆ่าสัตว์ และจับสัตว์ในบริเวณวัด และหน้าวัดด้วย และได้มีการปฏิบัติธรรมอันยิ่งใหญ่ อย่างพร้อมเพรียงกัน เป็นกรณีพิเศษ ในวันวิสาขบูชาปีนั้นด้วย

ประวัติศาสตร์สุโขทัย

ประวัติ

จังหวัดสุโขทัย เป็นที่ตั้งอาณาจักรแรกของชนชาติไทยเมื่อกว่า 700 ปีที่ผ่านมา คำว่า "สุโขทัย" มาจากคำสองคำคือ "สุข+อุทัย" มีความหมายว่า "รุ่งอรุณแห่งความสุข " ประวัติของสุโขทัยเริ่มประมาณ พ.ศ. 1800 เมื่อพระยาศรีนาวนำถม พระบิดาแห่งพ่อขุนผาเมืองได้ปกครองสุโขทัยซึ่งยังเป็นประเทศราชของขอมอยู่ ขึ้นต่อขอมสมาดโขลญลำพงข้าหลวงจากอาณาจักรขอม เมื่อพระยาศรีนาวนำถมสิ้นพระชนม์พ่อขุนบางกลางหาวและพ่อขุนผาเมืองเจ้าเมือง ราดได้ยึดเมืองคืนและสร้างเมืองสุโขทัยขึ้นเป็นราชธานี ต่อมาพ่อขุนบางกลางหาวได้เสด็จขึ้นครองราชย์และทรงพระนามว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์

ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระโอรสองค์ที่สามของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ อาณาจักรสุโขทัยได้ขยายออกไปกว้างขวางครอบคลุมประเทศไทยในปัจจุบันเกือบหมด บ้านเมืองเจริญก้าวหน้าทุกด้านทั้งด้านการปกครอง การพาณิชย์ กฎหมาย ศาสนา และศิลปวัฒนธรรมประเพณี หลักฐานสำคัญที่ทำให้ทราบเรื่องเมืองสุโขทัยมากขึ้น คือ ศิลาจารึกที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชโปรดเกล้าให้จารึกอักษรไทยไว้เมื่อ พ.ศ. 1826

ในศิลาจารึกกล่าวถึงความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรสุโขทัยในสมัยพ่อขุนราม คำแหงมหาราชว่ามีอาณาเขตกว้างขวาง ทิศเหนือจรดเมืองแพร่ น่าน และหลวงพระบาง ทิศใต้จรดนครศรีธรรมราช ทิศตะวันออกจรดเมืองเวียงจันทน์ และทิศตะวันตกจรดเมืองหงสาวดี การปกครองบ้านเมืองเป็นระบบพ่อปกครองลูก ประชาชนมีความเป็นอยู่ดี มีสิทธิเสรีภาพดังคำจารึกที่ว่า "..เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เจ้าเมืองบ่เอาจกอบ ในไพร่ ลูท่างเพื่อนจูงวัวไปค้าขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้า ใครจักใคร่ค้าม้า ค้า ใครจักใคร่ค้าเงือนค้าทอง ค้า ไพร่ฟ้าหน้าใส…"

ในสมัยนั้นชาวสุโขทัยประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม โดยมีการสร้างเขื่อนสำหรับกักน้ำไว้ใช้เมื่อหน้าแล้ง เรียกว่า "ทำนบพระร่วง" สุโขทัยเป็นเมืองศูนย์การค้าและการผลิตเครื่องถ้วยชามที่เรียกว่า "เครื่องสังคโลก" ส่งขายยังต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และบอร์เนียว นอกจากนั้นยังเป็นการค้าสินค้าจากประเทศจีน เช่น ถ้วยชามและผ้าไหม เพื่อขายในประเทศและส่งไปค้าขายแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศด้วย
หลักฐานที่สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญทางศิลปวัฒนธรรมของสุโขทัย ได้แก่สมบัติทางสถาปัตยกรรม ที่ได้รับการบูรณะขึ้นเป็นอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์
ศรีสัชนาลัย และได้รับการคัดเลือกจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ให้เป็นมรดกโลกในปีพุทธศักราช 2534

ประมาณ พ.ศ. 1890 กรุงศรีอยุธยามีอำนาจมากขึ้นและกลายเป็นศูนย์กลางแห่งการปกครองแทนสุโขทัย แต่สุโขทัยก็ยังมีพระมหากษัตริย์ปกครองติดต่อกันมาอีก 2 พระองค์จึงสิ้นราชวงศ์สุโขทัยและรวมเข้ากับอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์โปรดให้ตั้ง เมืองสุโขทัยที่บ้านธานี (บ้านท่าหนี) ริมแม่น้ำยม ซึ่งก็คือ จังหวัดสุโขทัยในปัจจุบัน ทรงย้ายผู้คนจากสุโขทัย ตั้งเมืองใหม่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำยมเมื่อพ.ศ. 2336 โดยห่างจากเมืองสุโขทัยที่เป็นราชธานี 12 กิโลเมตร พระราชดำริในครั้งนั้นมีอยู่ว่า เมืองสุโขทัยเป็นเมืองใหม่ ไม่มีผู้คนพอจะต่อสู้รักษาให้พ้นจากการรุกรานของพม่าและข้าศึกอื่น ๆได้

เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2475 ทางราชการได้เปลี่ยนชื่ออำเภอธานีเป็น อำเภอสุโขทัยธานี ขึ้นกับจังหวัดสวรรคโลก จนถึงพ.ศ. 2482 ได้ยกอำเภอสุโขทัยธานี ขึ้นเป็น จังหวัดสุโขทัย ตั้งแต่นั้นมา

สุโขทัย เป็นดินแดนแห่งความทรงจำถึงอดีตกาลแห่งความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ สิ่งสำคัญที่จะต้องระลึกถึงก็คือ

- เป็นราชธานีแห่งแรกของไทยและมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลที่สุด

- เป็นดินแดนของพระมหากษัตริย์มหาราชพระองค์แรกของชาวไทย คือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช

- เป็นแหล่งกำเนิดลายสือไทย และวรรณคดีเล่มแรกของไทยคือ "ไตรภูมิพระร่วง"

- เป็นยุคแรกที่ไทยมีความสัมพันธ์ทางราชไมตรีกับต่างประเทศ

- เป็นแหล่งกำเนิดศิลปวัฒนธรรมที่ได้ชื่อว่าเป็นยุคทองของศิลปะไทย

- เป็นแหล่งกำเนิดงานอุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียง คือ "เครื่องถ้วยสังคโลก"