กฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญา
กฎหมายแพ่ง
1. กฎหมายแพ่ง คือ กฎหมายที่เกี่ยวกับครอบครัวและมรดก กฎหมายแพ่งที่เกี่ยวกับครอบครัวเป็นกฎหมายที่บัญญัติเกี่ยวข้องกับชีวิตของตนเองและครอบครัว ดังนี้
1.1 การหมั้น เป็นการที่หญิงชายตกลงทำสัญญาว่าจะทำการสมรสกัน การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบทรัพย์อันเป็นของหมั้นให้แก่ฝ่ายหญิง แต่ในการสมรสนั้นไม่ได้บังคับว่าจะมีการหมั้นก่อน แต่ถ้าหมั้นก็จะมีผลผูกพันกัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะต้องปฎิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการหมั้น เช่น ของหมั้นจะตกเป้นสิทธิแก่หญิงทันที เมื่อมีการหมั้นแล้ว ไม่ว่าชายหรือหญิงตาย ฝ่ายหญิงก็ไม่ต้องคืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายเป็นต้น
เกณฑ์การหมั้นตามกฎหมายนั้น คือ ชาย หญิงจะหมั้นต้องมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์จึงจะมีอำนาจที่จะทำการหมั้นได้โดยลำพังตนเอง แต่ถ้ามีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์จะทำการหมั้นได้ต้องมีพ่อแม่หรือผู้ปกครองยินยอมก่อน เป็นต้น
การหมั้นที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนดไว้นั้นถือเป็นโมฆะ เหตุที่กฎหมายกำหนดอายุของหญิงและชายไว้ ก็เพราะการหมั้นเป็นเรื่องเฉพาะตัวของชายและหญิง เมื่อจะทำสัญญาหมั้นกันจึงควรให้ชายและหญิงที่จะหมั้นอยู่ในวัยที่จะรู้เรื่องการหมั้นได้ตามสมควร กฎหมายถือว่าชายหญิงที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปีบริบูรณ์ ไม่อยู่ในวัยที่จะรู้เรื่องการหมั้น การสมรส แม้บิดามารดาจะยินยอมก็ตาม
1.2 การรับรองบุตร เป็นการให้การยอมรับบุตรซึ่งเกิดจากหญิงที่เป็นภรรยาโดยมได้จดทะเบียนสมรส ซึ่งเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิง แต่เป็นบุตรนอกกฎหมายของชาย กฎหมายจึงเปิดโอกาสให้ชายจดทะเบียนรับรองบุตร ซึ่งจะทำให้เด็กเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายนับตั้งแต่วันที่ชายจดทะเบียน แต่ถ้าเป็นบุตรนอกสมรสแต่ต่อมาชายหญิงได้จดทะเบียนสมรสกันก็ไม่ต้องจดทะเบียบรับรองบุตรอีก การจดทะเบียนบุตรมี 2 วิธี คือการรับรองบุตรด้วยความสมัครใจของชายผู้เป็นบิดา และการรับรองบุตรโดยคำพิพากษาของศาลให้เด็กผู้นั้นเป็นบุตรของชายผู้เป็นบิดา
1.3 กฎหมายแพ่งเกียวกับมรดก
กฎหมายแพ่งเกี่ยวกับมรดกกำหนดว่าเมื่อบุคคลใดตาย และทำพินัยกรรมไว้ มรดกจะตกทอดแก่บุคคลที่ผู้ตายระบุไว้ในพินัยกรรม หากไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้มรดกจะตกทอดแก่บุคคลที่เป็นทายาทและคู่สมรส
กองมรดก ได้แก่ ทรัพย์ทุกชนิดของผู้ตาย ทั้งสิทธิและหน้าที่ ตลอดทั้งความรับผิดชอบต่างๆเกี่ยวกับทรัพย์สิน เป็นต้นว่าหนี้สิน เว้นแต่กฎหมาย หรือโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ เช่นสิทธิในการเข้าสอบ หรือสิทธิในการมีอาวุธปืน การตายของเจ้าของมรดกมีความยหมาย สองกรณี คือตายหรือสิ้นชีวิตไปตามจริงตามใบมรณบัตร หรือศาลสั่งให้เป็นบุคคลสาบสูญ บุคคลที่จะได้รับมรดกของผู้ตายได้แก่ ทายาท วัด แผ่นดิน บุคคลภายนอกนี้ไม่มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายเลย
ทายาทแบ่งออกเป็นสองประเภท
1. ทายาทโดยธรรม เป็นทายาทตามสิทธิกฎหมาย ได้แก่ ญาติ และคู่สมรส และทายาทที่แบ่งออกเป็นหกชั้นคือ
1.1 ผู้สืบสันดาน
1.2 บิดามารดา
1.3 พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
1.4 พี่น้องที่ร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
1.5 ปู่ย่า ตายาย
1.6 ลุง ป้า น้า อา
2.ผู้รับพินัยกรรม พินัยกรรม ได้แก่ คำสั่งยกทรัพย์สินหรือแบ่งทรัพย์สิน หรือวางข้อกำหนดใดๆอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนเมื่อตายไปแล้ว หรือกรณีอื่นๆที่กฎหมายรับรองมีผลเมื่อตายไปแล้ว เช่น การตั้งเป็นผู้ปกครองเด็ก เป็นต้นและต้องทำให้ถูกกฎหมายกำหนดไว้ด้วย จึงจะมีผลเป็นพินัยกรรมตามกฎหมาย ผู้รับพินัยกรรม ได้แก่ ผู้ที่มีชื่อระบุไว้ในพีนัยกรรม
ทุกสังคมย่อมมีกฎเกณฑ์ ข้อบังคับความประพฤติของสมาชิกในสังคมนั้นๆ บุคคลใดมีการกระทำที่มีผลกระทบกระเทือนต่อสังคมหรือคนส่วนใหญ่ จัดเป็นการกระทำความผิดทางอาญา ดังนั้นกฎหมายอาญาจึงเป็นกฎหมายซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการป้องกันสังคม เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยโดยการกำหนดว่า การกระทำใดเป็นความผิดอาญาและได้กำหนดโทษของผู้ฝ่าฝืน กระทำความผิดนั้นๆ
1. ความผิดทางอาญา
ความผิดทางอาญา คือ การกระทำที่มีผลกระทบกระเทือนต่อสังคมหรือคนส่วนใหญ่ของประเทศ เมื่อบุคคลใดกระทำความผิดทางอาญา จะต้องได้รับโทษตามกฎหมายมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของการกระทำความผิด กฎหมายมิได้ถือว่าการกระทำความผิดทุกอย่างร้ายแรงเท่าเทียมกัน การลงโทษผู้กระทำความผิดจึงขึ้นอยู่กับการกระทำ และสังคมมีความรู้สึกต่อการกระทำนั้นๆ ว่า อะไรเป็นปัญหาสำคัญมากน้อยเพียงใด ซึ่งอาจจะแบ่งการกระทำความผิดอาญาออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
1.1 ความผิดต่อแผ่นดิน หมายถึง ความผิดในทางอาญา ซึ่งนอกจากเรื่องนั้นจะมีผลต่อตัวผู้รับผลร้ายแล้ว ยังมีผลกระทบที่เสียหายต่อสังคมอีกด้วย และรัฐจำเป็นต้องป้องกันสังคมเอาไว้ด้วยการยื่นมือเข้ามาเป็นผู้เสียหายเอง ดังนั้นแม้ผู้รับผลร้ายจากการกระทำโดยตรงจะไม่ติดใจเอาความ แต่ก็ยังต้องเข้าไปดำเนินคดีฟ้องร้องเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้
กรณีตัวอย่างที่ 1 นายมังคุดทะเลาะกับนายทุเรียน นายมังคุดบันดาลโทสะใช้ไม้ตีศีรษะนายทุเรียนแตก นายทุเรียนไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดำเนินคดีกับนายมังคุดในข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่น ต่อมานายทุเรียนหายโกรธนายมังคุดก็ไม่ติดใจเอาเรื่องกับนายมังคุด แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องดำเนินคดีกับนายทุเรียนต่อไปเพราะเป็นความผิดต่อแผ่นดิน
กรณีตัวอย่างที่ 2 นายแตงโมขับรถยนต์ด้วยความประมาทไปชนเด็กชายแตงไทยถึงแก่ความตายเป็นความผิดอาญาฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต่อมานายแตงกวาและนางแต่งอ่อนบิดามารดาของเด็กชายแตงไทย ได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากนายแตงโมเป็นเงิน 200,000 บาทแล้ว จึงไม่ติดใจเอาความกับนายแตงโม แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องดำเนินคดีกับนายแตงโมต่อไป เพราะความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายเป็นความผิดต่อแผ่นดิน
1.2 ความผิดอันยอมความกันได้ หมายถึง ความผิดในทางอาญาซึ่งไม่ได้มีผลร้ายกระทบต่อสังคมโดยตรง หากตัวผู้รับผลร้ายไม่ติดใจเอาความแล้ว รัฐก็ไม่อาจยื่นมือเข้าไปดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้ และถึงแม้จะดำเนินคดีไปแล้ว เมื่อตัวผู้เสียหายพอใจยุติคดีเพียงใดก็ย่อมทำได้ด้วยการถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือยอมความ เช่น ความผิดฐานหมิ่นประมาท ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ เป็นต้น
กรณีตัวอย่างที่ 1 นายโก๋และนางกี๋ลักลอบได้เสียกัน นายแฉแอบเห็นเข้า จึงได้นำความไปเล่าให้นายเชยผู้เป็นเพื่อนฟัง การกระทำของนายแฉมีความผิดฐานหมิ่นประมาท เมื่อนายโก๋และนางกี๋รู้เข้าจึงไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ นายแฉไปหานายโก๋และนางกี๋ เพื่อขอขมานายโก๋และนางกี๋จึงถอนคำร้องทุกข์ดังนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไม่มีอำนาจดำเนินคดีกับนายแฉอีกต่อไป ถือว่าเป็นความผิดอันยอมความกันได้
กรณีตัวอย่างที่ 2 นายตำลึงล่ามโซ่ใส่กุญแจประตูใหญ่บ้านของนายมะกรูด ทำให้นายมะกรูดออกจากบริเวณบ้านไม่ได้ นายมะกรูดต้องปีนกำแพงรั้งกระโดลงมา การกระทำของนายตำลึงเป็นความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้ปราศจากเสรีภาพ นายมะกรูดจึงไปแจ้งความยังสถานีตำรวจ นายตำลึงได้ไปหานายมะกรูดยอมรับความผิด และขอร้องไม่ให้นายตำลึงเอาความกับตนเอง นายตำลึงเห็นใจจึงไปถอนคำร้องทุกข์ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะดำเนินคดีต่อไปอีกไม่ได้เพราะเป็นความผิดอันยอมความกันได้
2. ลักษณะสำคัญของกฎหมายอาญา
2.1 เป็นกฎหมายที่กำหนดเป็นความผิดชัดแจ้ง ในขณะกระทำความผิดต้องมีกฎหมายบัญญัติไว้แล้วอย่างชัดแจ้งว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด เจ้าหน้าที่ผู้ใช้กฎหมายจะสร้างกฎหมายใหม่ขึ้นมาใช้บังคับแก่ประชาชนคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะไม่ได้ เช่น กฎหมายบัญญัติว่า “การลักทรัพย์เป็นความผิด” ดังนั้น ผู้ใดลักทรัพย์ก็ย่อมมีความผิดเช่นเดียวกัน
2.2 เป็นกฎหมายที่ไม่มีผลย้อนหลัง เป็นโทษไม่ได้แต่เป็นคุณได้ ถ้าหากในขณะที่มีการกระทำสิ่งใดยังไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด แม้ต่อมาภายหลังจะมีกฎหมายบัญญัติว่าการกระทำอย่างเดียวกันนั้นเป็นความผิด ก็จะนำกฎหมายใหม่ใช้กับผู้กระทำผิดคนแรกไม่ได้
กรณีตัวอย่าง นายมะม่วงมีต้นไม้สักขนาดใหญ่ซึ่งขึ้นในที่ดิน ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของเขา นายมะม่วงได้ตัดต้นสัก เลื่อยแปรรูปเก็บเอาไว้ ก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติป่าไม้ ฉบับที่ 3 ออกมาบังคับใช้ ถือว่าไม้สักเป็นไม้หวงห้ามก็ตาม นายมะม่วงก็ไม่มีความผิด เพราะจะใช้กฎหมายใหม่ย้อนหลังลงโทษทางอาญาไม่ได้
3. โทษทางอาญา
1) ประหารชีวิต คือ นำตัวไปยิงด้วยปืนให้ตาย
2) จำคุก คือ นำตัวไปขังไว้ที่เรือนจำ
3) กักขัง คือนำตัวไปขังไว้ ณ ที่อื่น ที่ไม่ใช่เรือนจำ เช่น นำไปขังไว้ที่สถานีตำรวจ
4) ปรับ คือ นำค่าปรับซึ่งเป็นเงินไปชำระให้แก่เจ้าพนักงาน
5) ริบทรัพย์สิน คือ ริบเอาทรัพย์สินนั้นเป็นของหลวง เช่น ปืนเถื่อน ให้ริบ ฯลฯ
4. บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาและได้รับโทษทางอาญาเมื่อใด
บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาต่อเมื่อ
4.1 กระทำโดยเจตนา คือ การกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
กรณีตัวอย่างที่ 1 นายฟักรู้ว่านายแฟง ซึ่งเป็นศัตรูจะต้องเดินผ่านสะพานข้ามคลองหลังวัดสันติธรรมทุกเช้าเวลาประมาณ 08.00 น. เขาจึงไปดักซุ่มอยู่ใกล้บริเวณนั้น เมื่อนายแฟงเดินมาใกล้นายฟักจึงใช้ปืนยิงไปที่นายแฟง 1 นัด กระสุนปืนถูกบริเวณหน้าอกของนายแฟง เป็นเหตุให้นายแฟงถึงแก่ความตาย นายฟักมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา
กรณีตัวอย่างที่ 2 ดาวเรืองทะเลาะกับบานชื่น ดาวเรืองพูดเถียงสู้บานชื่นไม่ได้ ดาวเรืองจึงตบปากบานชื่น 1 ที่ ดาวเรืองมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายโดยเจตนา
4.2 กระทำโดยไม่เจตนา แต่ต้องเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้ โดยแจ้งชัดให้รับผิดแม้กระทำโดยไม่เจตนากระทำโดยไม่เจตนา คือ ผู้กระทำไม่ได้ประสงค์ต่อผล หรือไม่อาจเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นได้ เช่น เราผลักเพื่อนเพียงจะหยอกล้อเท่านั้น แต่บังเอิญเพื่อนล้มลงไป ศีรษะฟาดขอบถนนถึงแก่ความตาย เป็นต้น
4.3 กระทำโดยประมาท แต่ต้องเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาทการกระทำโดยประมาท คือ การกระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจะต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านี้ได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่
กรณีตัวอย่าง นายเหิรฟ้าใช้อาวุธปืนขู่นายเหิรลม เพื่อไม่ให้เอาแป้งมาป้ายหน้านายเหิรฟ้า โดยที่นายเหิรฟ้าไม่รู้ว่าอาวุธปืนกระบอกนั้น มีลูกกระสุนปืนบรรจุอยู่ เป็นเหตุให้กระสุนปืนลั่นไปถูกนายเหิรลมตาม นายเหิรฟ้ามีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
อนึ่ง “การกระทำ” ไม่ได้หมายความเฉพาะถึงการลงมือกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงการงดเว้นการกระทำโดยประสงค์ให้เกิดผลและเล็งเห็นผลที่จะเกิดเช่น แม่จงใจทิ้งลูกไม่ให้กินข้าว จนทำให้ลูกตาย ตามกฎหมายแม่มีหน้าที่จะต้องเลี้ยงดูลูก เมื่อแม่ละเลยไม่ทำหน้าที่ดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้ลูกตาย ย่อมเป็นการกระทำความผิดโดยงดเว้น ถ้าการงดเว้นนั้นมีเจตนางดเว้นก็ต้องรับผิดในฐานะกระทำโดยเจตนา ถือว่าเป็นความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา
บุคคลจะต้องได้รับโทษทางอาญาต่อเมื่อ
1. การกระทำอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้น บัญญัติเป็นความผิดซึ่งเป็นไปตามหลักที่ว่า “ไม่มีความผิดโดยปราศจากกฎหมาย”
2. กฎหมายที่ใช้ในขณะนั้นต้องกำหนดโทษไว้ด้วย เป็นไปตามหลักที่ว่า “ไม่มีโทษโดยไม่มีกฎหมาย” การลงโทษต้องเป็นโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เช่น กฎหมายกำหนดโทษปรับศาลจะลงโทษจำคุกไม่ได้ แม้ศาลจะลงโทษปรับศาลก็ลงโทษปรับเกินอัตราขั้นสูงที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่ได้
กรณีตัวอย่าง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 372 บัญญัติว่า ผู้ใดทะเลาะกันอย่างอื้ออึงในทางสาธารณะ หรือสาธารณสถานหรือกระทำโดยประการอื่นใด ให้เสียความสงบเรียบร้อยในทางสาธารณะหรือสาธารณะสถานต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท ดังนั้น ถ้าผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรานี้ศาลจะลงโทษจำคุกไม่ได้ เพราะความผิดตามมาตราดังกล่าวกำหนดเฉพาะโทษปรับเท่านั้น ถ้าศาลจะลงโทษปรับก็จะปรับได้ไม่เกิน 500 บาท
5. เหตุที่กฎหมายไม่ลงโทษ
โดยหลักทั่วไปแล้วบุคคลใดกระทำความผิดต้องรับโทษ แต่มีบางกรณีที่กฎหมายไม่ลงโทษ เหตุที่กฎหมายไม่ลงโทษนั้น เป็นกรณีที่กฎหมายไม่ลงโทษผู้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด หมายความว่า ผู้กระทำยังมีความผิดอยู่แต่กฎหมายยกเว้นโทษให้ ต่างกับกรณียกเว้นความผิด ซึ่งผู้กระทำไม่มีความผิดเลยทีเดียว อย่างไรก็ตามทั้งเหตุยกเว้นและหยุดยกเว้นความผิดต่างก็มีผลทำให้ผู้กระทำรับโทษเหมือนๆกัน
เหตุยกเว้นโทษทางอาญา
การกระทำความผิดอาญาที่ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษถ้ามีเหตุอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย เช่น
1. การกระทำความผิดด้วยความจำเป็น
2. การกระทำความผิดเพราะความบกพร่องทางจิต
3. การกระทำความผิดเพราะความมึนเมา
4. การกระทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน
5. สามีภริยากระทำความผิดต่อกันในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์บางฐาน
6. เด็กอายุไม่เกิน 14 ปีกระทำความผิด
6. เด็กและเยาวชนกระทำความผิด
เด็กอาจกระทำความผิดได้เช่นเดียวผู้ใหญ่ แต่การกระทำความผิดของเด็กอาจได้รับโทษต่างจากการกระทำของผู้ใหญ่ ทั้งนี้เนื่องจากเด็กเป็นผู้อ่อนเยาว์ ปราศจากความรู้สึกรับผิดชอบหรือขาดความรู้สึกสำนึกเท่าผู้ใหญ่ การลงโทษเด็กจำต้องคำนึงถึงอายุของเด็ก ผู้กระทำความผิดด้วย กฎหมายได้แบ่งการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนออกเป็น 4 ช่วงอายุ คือ
1) เด็กอายุไม่เกิน 7 ปี
2) เด็กอายุกว่า 7 ปี แต่ยังไม่เกิน 14 ปี
3) เยาวชนอายุเกินกว่า 14 ปีแต่ไม่เกิน 17 ปี
4) เยาวชนอายุกว่า 17 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี
สำหรับเด็กในช่วงอายุไม่เกิน 7 ปี และเด็กอายุกว่า 7 ปีแต่ไม่เกิน 14 ปีเท่านั้น ที่กฎหมายยกเว้นโทษให้ ส่วนผู้ที่อายุเกินกว่า 14 ปีแต่ไม่เกิน 17 ปี และผู้ที่มีอายุกว่า 17 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี หากกระทำความผิดกฎหมายก็จะไม่ยกเว้นโทษให้ เพียงแต่ให้รับลดหย่อนโทษให้
6.1 เด็กอายุไม่เกิน 7 ปีการกระทำความผิด เด็กไม่ต้องรับโทษเลย ทั้งนี้เพราะกฎหมายถือว่าเด็กในวัยนี้ยังไม่สามารถรู้ผิดชอบได้ ฉะนั้นจะมีการจับกุมฟ้องร้อยเกในทางอาญามิได้
6.2 เด็กอายุกว่า 7 ปี แต่ไม่เกิน 14 ปีกระทำความผิด เด็กนั้นก็ไม่ต้องรับโทษเช่นกัน แต่กฎหมายให้อำนาจศาลที่จะใช้วิธีการสำหรับเด็ก เช่น
1) ว่ากล่าวตักเตือนเด็กนั้นแล้วปล่อยตัวไป
2) เรียกบิดามารดา ผู้ปกครองหรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่มาตักเตือนด้วยก็ได้
3) มอบตัวเด็กให้แก่บิดามารดาหรือผู้ปกครองไป โดยวางข้อกำหนดให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองระวังเด็กนั้นไม่ให้ก่อเหตุร้าย
4) มอบเด็กให้แก่บุคคลที่เด็กอาศัยอยู่ เมื่อเขายอมรับข้อกำหนดที่จะระวังเด็กนั้นไม่ให้ก่อเหตุร้าย
5) กำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติ
6) มอบตัวเด็กให้กับบุคคลหรือองค์การที่ศาลเห็นสมควร เพื่อดูและอบรมและสั่งสอนเด็กในเมื่อบุคคลหรือองค์การนั้นยินยอม
7) ส่งตัวเด็กนั้นไปยังโรงเรียนหรือสถานฝึกอบรม หรือสถานที่ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรม
6.3 เยาวชนอายุเกิน 14 ปี แต่ไม่เกิน 17 ปีกระทำความผิด ผู้ที่อายุกว่า 14 ปีแต่ไม่เกิน 17 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ให้ศาลพิจารณาถึงความรู้ผิดชอบและสิ่งอื่นทั้งปวงเกี่ยวกับผู้นั้นในอันควรวินิจฉัยว่าสมควรพิพากษาลงโทษผู้นั้นหรือไม่ศาลอาจใช้วิธีการตามข้อ 6.2 หรือลงโทษเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ โดยลดมาตราส่วนโทษที่จะใช้กับเยาวชนนั้นลงกึ่งหนึ่ง ก่อนที่จะมีการลงโทษเยาวชนผู้กระทำความผิด
6.4 เยาวชนอายุกว่า 17 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปีกระทำความผิด ผู้ที่อายุกว่า 17 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี กระทำอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นลง 1 ใน 3 หรือกึ่งหนึ่งก็ได้จะเห็นได้ว่า ผู้ที่อายุกว่า 17 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี กฎหมายไม่ถือว่าเป็นเด็ก แต่กฎหมายก็ยอมรับว่า บุคคลในวัยนี้ยังมีความคิดอ่านไม่เท่าผู้ใหญ่จริง จึงไม่ควรลงโทษเท่าผู้ใหญ่กระทำความผิด โดยให้ดุลพินิจแก่ศาลที่จะพิจารณาว่า สมควรจะลดหย่อนผ่อนโทษให้หรือไม่ ถ้าศาลพิจารณาสิ่งต่างๆที่เกี่ยวกับผู้กระทำความผิด เช่น ความคิดอ่าน การศึกษาอบรม ตลอดจนพฤติการณ์ในการกระทำความผิด เช่น กระทำความผิดเพราะถูกผู้ใหญ่เกลี้ยกล่อม หากศาลเห็นสมควรลดหย่อนผ่อนโทษให้ก็มีอำนาจลดมาตราส่วนโทษได้ 1 ใน 3 หรือกึ่งหนึ่งการลดมาตราส่วนโทษ คือ การลดอัตราโทษขั้นสูงและโทษขั้นต่ำลง 1 ใน 3 หรือกึ่งหนึ่งแล้ว จึงลงโทษระหว่างนั้น แต่ถ้ามีอัตราโทษขั้นสูงอย่างเดียวก็ลดเฉพาะอัตราโทษขั้นสูงนั้น แล้วจึงลงโทษจากอัตราที่ลดแล้วนั้น
กรณีตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 536/2516 จำเลยอายุ 19 ปี ยอมมีความรู้สึกผิดชอบน้อย ได้กระทำความผิดโดยเข้าใจว่าผู้ตายข่มเหงน้ำใจตน ศาลเห็นสมควรลดมาตราส่วนโทษลง 1 ใน 3
สรุปสาระสำคัญ
1. กฎหมายอาญา คือ กฎหมายที่ว่าด้วยความผิดและโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิด
2. ความผิดทางอาญา คือ การกระทำที่มีผลกระทบกระเทือนต่อสังคมหรือคนส่วนใหญ่ของประเทศ
3. การกระทำความผิดอาญาออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ความผิดต่อแผ่นดิน และความผิดอันยอมความกันได้
4. ลักษณะสำคัญของกฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่กำหนดเป็นความผิดชัดแจ้ง หรือเป็นกฎหมายที่ไม่มีผลย้อนหลัง
5. โทษทางอาญา มี 5 ชนิด
1. ประหารชีวิต 2. จำคุก
3. กักขัง 4. ปรับ
5. ริบทรัพย์สิน
6. กระทำโดยเจตนา คือ การกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
7. กระทำโดยไม่เจตนา คือ ผู้กระทำไม่ได้ประสงค์ต่อผล หรือไม่อาจเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นได้
8. การกระทำโดยประมาท คือ การกระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้น จะต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านี้ได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่
9. กฎหมายได้แบ่งการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนออกเป็น 4 ช่วงอายุ คือ
1) เด็กอายุไม่เกิน 7 ปี
2) เด็กอายุกว่า 7 ปี แต่ยังไม่เกิน 14 ปี
3) เยาวชนอายุเกินกว่า 14 ปีแต่ไม่เกิน 17 ปี
4) เยาวชนอายุกว่า 17 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี
แบบทดสอบ